วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.30 น.
นายนพดล สำเภา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร รักษาราชการแทน เกษตรอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ มอบหมายให้นางสาวพรจิตรา จันทร์เจริญ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ พร้อมด้วยเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ และหัวกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ลงพื้นที่ติดตามศูนย์เรียนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลของการเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองคุณภาพสูง มาตรฐาน GAP สำหรับการส่งออกไปยังประเทศเกาหลีใต้ ประเทศมาเลเซีย มีการจัดทำแปลงให้ง่ายต่อการจัดการ สะอาด และปลอดภัย
เกษตรกรต้นแบบผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง นางบุษรินทร์ ชังแก้ว มีพื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองประมาณ 18 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยรวมในต่ละฤดูกาลผลิตประมาณ 30-40 ตัน/ปี ในพื้นที่การปลูกทั้งหมดจะห่อด้วยถุงกระดาษเคลือบคาร์บอน เพื่อรักษาคุณภาพผลผลิต ลดการใช้สารเคมี และป้องกันแมลงศัตรูมะม่วง ผิวมะม่วงจะมีสีเหลืองทอง สวยงาม คุณภาพดี
การห่อผลมะม่วง เกษตรกรจะเลือกห่อผลเมื่ออายุ 2-3 เดือนหลังจากติดลูก และเลือกที่ผลสวยสมบูรณ์ ไม่บิดเบี้ยว ผิวไม่ลาย ผลไม่เล็กเกินไป และปลิดผลที่รูปทรงผิดปกติออก ให้เหลือช่อละประมาณ 2-3 ลูก และจะใช้ถุงคาร์บอน 1 ถุงต่อมะม่วง 1 ลูก เหมาะสมต่อการจำหน่ายแบบส่งออก และนอกจากนี้ ถุงคาร์บอนยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ นำถุงเดิมมากางเป็นแผ่นผึ่งแดดลดความชื้นของถุงใช้ไม้รีดถุงให้เรียบแล้วนำกลับมาห่อผลผลิตได้อีก 2-3 ครั้ง
ผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง แบ่งเป็น
1.เกรด A ประมาณ 30 %
2.เกรด B ประมาณ 40 %
3.เกรด C ประมาณ 20 %
4.เกรดรวม ประมาณ 10 %
มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง แบ่งเกรดตามน้ำหนัก ดังนี้
เกรด A น้ำหนักประมาณ 300 กรัมขึ้นไป (เกาหลีใต้ มาเลเซีย)
เกรด B น้ำหนักประมาณ 250-300 กรัม (เกาหลีใต้ มาเลเซีย)
เกรด C น้ำหนักประมาณ 230-250 กรัม (มาเลเซีย ในประเทศ)
เกรด S น้ำหนักต่ำกว่า 230 กรัม (เกรดรวมใประเทศ)
ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หมู่ที่ 8 ตำบลวังกะพี้ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์




